วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทุจริตการสอบ

การสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการในหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานในปัจจุบันมีผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมากแต่มีผู้ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นจำนวนน้อย เนื่องจากอัตราว่างของตำแหน่งมีจำนวนจำกัดในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษามีจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันสูงและนำไปสู่ปัญหาการทุจริตในการสอบที่เกิดขึ้นตามมาดังที่ปรากฏเป็นข่าว ประกอบกับปัจจุบันระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารมีความทันสมัยมากขึ้น เป็นช่องทางให้ผู้เข้าสอบสามารถกระทำการทุจริตได้สะดวกกว่าแต่ก่อน ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสอบจึงต้องเตรียมการระมัดระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในการสอบ
       
       ศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในการสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้พิพากษา ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการสอบข้อเขียนสำหรับการสอบคัดเลือก การทดสอบความรู้ และการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการทุจริตการสอบ
       
       โดยระเบียบดังกล่าวได้วางแนวทางในการปฏิบัติครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ ระเบียบการสอบข้อเขียน และการดำเนินการของกรรมการคุมสอบเพื่อให้การจัดสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นไปโดยเสมอภาค สุจริต โปร่งใสและเป็นธรรม
       
       ในการสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาแต่ละครั้งกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการออกข้อสอบ กรรมการคุมสอบและเจ้าหน้าที่คุมสอบ เพื่อให้การดำเนินการจัดสอบเป็นไปอย่างเรียบร้อยและสุจริต คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเป็นเรื่อง “ลับ” จะไม่เปิดเผยแก่บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และในระหว่างประชุมออกข้อสอบ ให้คณะกรรมการสอบขอความอนุเคราะห์ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการในการตัดสัญญาณการสื่อสารทั้งในห้องออกข้อสอบและในบริเวณพื้นที่โดยรอบห้องออกข้อสอบ เมื่อการประชุมออกข้อสอบเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อสอบรั่วไหล ข้อสอบพร้อมร่างธงคำตอบให้เป็นเอกสารลับและไม่อนุญาตให้นำออกจากห้องออกข้อสอบ โดยข้อสอบที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมจะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด
       
       นอกจากนั้น ระเบียบดังกล่าวยังมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามให้ผู้เข้าสอบต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่หลายข้อ ผู้เข้าสอบควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการสอบก่อนถึงวันสอบเพื่อความสะดวกและประโยชน์ของผู้เข้าสอบเอง เช่น ให้ผู้เข้าสอบมาถึงห้องสอบก่อนเริ่มต้นเวลาสอบไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที และห้ามมิให้ผู้เข้าสอบเข้าห้องสอบภายหลังการสอบได้เริ่มต้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้าไปในอาคารสอบและห้องสอบโดยเด็ดขาด ห้ามกระทำการใด ๆ อันอาจช่วยให้ล่วงรู้คำถามและคำตอบของข้อสอบ เช่น นำตำรากฎหมาย ตัวบทกฎหมาย โน้ตย่อใด ๆ เข้าไปในห้องสอบ ห้ามมิให้นำสัมภาระใด ๆ ที่อาจใช้ซุกซ่อนสิ่งของดังกล่าวข้างต้น ห้ามไม่ให้ออกจากห้องสอบก่อนหมดเวลาสอบและห้ามนำข้อสอบออกจากห้องสอบโดยเด็ดขาด มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อสอบรั่วไหลซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการทุจริตในการสอบ
       
       อีกทั้งระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารสมัยใหม่ในปัจจุบัน ทำให้การติดต่อสื่อสารหรือการส่งข้อมูลถึงกันทำได้สะดวกรวดเร็วและมีหลายรูปแบบ! จึงจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบให้มีความรัดกุมมากขึ้น ดังนั้น ในวันสอบคณะกรรมการจึงขอความอนุเคราะห์ไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตัดสัญญาณการสื่อสารบริเวณห้องสอบ มีการใช้เครื่องตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Hand Scan) เพื่อให้กรรมการคุมสอบใช้ในการตรวจสอบร่างกายผู้เข้าสอบ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจตราและดูแลความเรียบร้อยบริเวณรอบอาคารสอบ
       
       ผู้เข้าสอบที่ทุจริตในการสอบจะถูกปรับเป็นผู้สอบข้อเขียนตก และเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ ตามมาตรา ๒๖ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
       
       ไม่เพียงแต่ผู้เข้าสอบเท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ แต่ในส่วนของคณะกรรมการคุมสอบก็มีระเบียบ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยระเบียบดังกล่าว ห้ามไม่ให้กรรมการคุมสอบนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ เข้าไปในห้องสอบ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการ และให้กรรมการคุมสอบตรวจสอบผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะทำการสอบโดยทุจริต
       
       อย่างไรก็ตาม แม้กฎ ระเบียบและมาตรการป้องกันการทุจริตต่างๆจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การสอบคัดเลือกเป็นไปอย่างสุจริตและยุติธรรมกับทุกฝ่าย แต่มาตรการป้องกันการทุจริตที่สำคัญอีกมาตรการหนึ่งคือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้สมัครสอบโดยไม่ทุจริตในการสอบ ผู้สมัครสอบควรตระหนักถึงผลกระทบในอนาคตที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ เพราะนอกจากจะถูกปรับให้เป็นผู้สอบตกไม่สามารถเข้ารับราชการได้อย่างที่คาดหวังไว้แล้วยังอาจส่งผลให้ผู้ทุจริตตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงแก่อนาคตของตนเองตลอดทั้งชื่อเสียงและเกียรติยศของวงศ์ตระกูลอีกด้วย

ที่มา 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น