วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สังคมไทยจะเป็นอย่างไร



แม้เรื่องของการคอร์รัปชันจะเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เยาวชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนในประเทศไทย รวมถึงเยาวชนอยากขอให้ผู้นำประเทศซื่อสัตย์ ซึ่งได้เล่าไปแล้วในตอนที่ 5
              แต่กลับพบว่าเยาวชนจำนวนมากมีพฤติกรรมทุจริตเสียเอง ซึ่งจะนำมาเล่าต่อในตอนที่ 6 นี้
              จากงานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย” สำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,000 คนทั่วประเทศ เกี่ยวกับ “พฤติกรรมทุจริต”
               พบเยาวชนในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 81 มีพฤติกรรมการทุจริตโดยให้เพื่อนลอกข้อสอบหรือลอกข้อสอบเพื่อน
              ร้อยละ 63 มีพฤติกรรมเซ็นชื่อเข้าเรียนแทนพื่อนหรือให้เพื่อนเซ็นชื่อเข้าเรียนให้
              ร้อยละ 38 ซื้อหรือใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
              ร้อยละ 18 ให้เงินตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงใบสั่ง
              ร้อยละ 6 มีพฤติกรรมให้สินบน
              ร้อยละ 5 มีพฤติกรรมรับสินบน
              ร้อยละ 2 ซื้อสิทธิ์ขายเสียง
              โดยพฤติกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อเยาวชนโตขึ้นหรืออยู่ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เนื่องจากสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ยังผลให้ทัศนคติต่อพฤติกรรมต่างๆ ของเยาวชนมีความเปลี่ยนแปลงไป
              จากการศึกษา “ความคิดเห็นของเยาวชนต่อพฤติกรรมต่างๆ ว่าเป็นการกระทำที่ผิดหรือไม่จากมุมมองของพวกเขา” โดยให้เลือกตอบ 3 ระดับ คือ ไม่ผิดเลย ไม่ผิดมาก และผิดมาก
              พบว่า ร้อยละ 72 มองว่าการให้เพื่อนลอกข้อสอบหรือลอกข้อสอบเพื่อนไม่ผิดมาก และ 3% มองว่าไม่ผิดเลย
              ร้อยละ 69 มองว่าการเซ็นชื่อเข้าเรียนแทนเพื่อนหรือให้เพื่อนเซ็นชื่อให้ไม่ผิดมาก และ 4% มองว่าไม่ผิดเลย
              ร้อยละ 45 มองว่าการซื้อหรือใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ผิดมาก และ 5% มองว่าไม่ผิดเลย
              ร้อยละ 36 มองว่าการให้เงินตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงใบสั่งไม่ผิดมาก และ 2% มองว่าไม่ผิดเลย
              ร้อยละ 18 มองว่าการรับสินบน การให้สินบนไม่ผิดมาก และ 1% มองว่าไม่ผิดเลย
              ร้อยละ 12 มองว่าการซื้อสิทธิ์/ขายเสียงไม่ผิดมาก และ 1% มองว่าไม่ผิดเลย
              นอกเหนือจากการมีพฤติกรรมทุจริตเล็กๆ น้อยๆ ข้างต้นแล้ว จากผลการศึกษาโดยการสมมติเหตุการณ์ให้เยาวชนไปสอบใบขับขี่ซึ่งปรากฏว่าสอบไม่ผ่าน แต่สามารถจ่ายสินบนเจ้าพนักงานจำนวน 500 บาทเพื่อให้สอบผ่านได้ 
              พบว่า เยาวชนร้อยละ 25 ยินดีที่จะจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ 
             เป็นที่น่าสนใจว่า หากพิจารณาความคิดเห็นของเยาวชนจำแนกตามรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว จะพบว่าเยาวชนที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในรูปแบบรักและเอาใจใส่ มีแนวโน้มยินดีจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่พนักงานน้อยกว่าเยาวชนที่ได้รับการเลี้ยงดูในรูปแบบอื่น
              ทำไมเยาวชนจึงยินดีจ่ายสินบนแก่เจ้าพนักงาน
              เกือบทั้งหมดที่ร้อยละ 92 ให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำเพื่ออำนวยความสะดวก
             ขณะที่เยาวชนที่ไม่ยินดีจ่ายสินบนเจ้าพนักงาน ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 53 ให้เหตุผลในเรื่องความต้องการที่จะสอบผ่านด้วยความสามารถของตัวเอง ร้อยละ 27 ไม่อยากทุจริต และร้อยละ 20 เห็นว่าสามารถสอบใหม่เพื่อให้ผ่านได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น