วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มาตรการป้องกันการทุจริตการสอบ

อ่านยัง? "มาตรการป้องกันการทุจริตการสอบ" ตำแหน่งครูผู้ช่วย รอบ2/2558
จากการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ครั้งที่ 5/2558
 เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2558 ณ โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต มีประเด็นการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย มาฝากกันครับ โดยมีดังนี้ เรื่องการสอบแข่งขันเพื่อสอบบรรจุครูเข้ารับราชการตาม (ว.14/2558) ครั้งที่ 2 ที่เป็นห่วงคือมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบ ทั้งนี้ สพฐ. จะจัดทาคู่มือให้ การสอบเปิดสอบ 111 เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 97 เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 31 เขต มาตรการป้องกันการทุจริตการสอบ 1. สอดส่อง กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 2. ประชุมคณะกรรมการ 3. ตรวจสอบการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4. จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 5. เตรียมสถานที่ 6. ติดตั้งกล้องวงจรปิด 7. เปิดช่องทางการรับฟัง การแจ้งข่าวสารข้อมูล 8. การรับสมัครสอบ ตรวจสอบคุณสมบัติ ให้รอบคอบ 9. การเก็บรักษาขอสอบ ให้มีการรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง 10. ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหารดูแล 11. ให้มีเครื่องดักจับสัญญาณ 12. ห้ามผู้เข้าสอบนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทเข้าห้องสอบ 13. ห้ามมิให้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา / รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เจ้าหน้าที่เขตทำการใดๆ เกี่ยวกับ การสอบ เช่น กวดวิชาอย่างเด็ดขาด การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร 1. พิมพ์ลายนิ้วมือ ของผู้เข้าสอบ 2. บันทึกภาพผู้สมัคร และผู้เข้าสอบ 3. การตรวจสอบคุณวุฒิ และใบอนุญาตพิเศษวิชาชีพ อย่างรอบคอบ 4. คุณวุฒิการศึกษา ถ้ามีข้อสงสัยให้หารือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เร่งด่วน 5. ใบอนุญาตพิเศษวิชาชีพครู เมื่อประกาศรายชื่อผู้สอบได้แล้ว ให้ทำหนังสือ ขอตรวจสอบไปยัง สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาทุกราย เรื่องการตรวจสอบผู้สมัคร ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ทำอย่างรอบคอบ การตรวจสอบคุณวุฒิ ต้องละเอียดรอบครอบส่วนการปลอมใบประกอบวิชาชีพ สามารถส่งไปตรวจสอบได้ที่คุรุสภา การจัดทำ TOR ให้จัดทำให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน การคืนอัตราเกษียณ ปี 2557 ยังคืนไม่หมดบางส่วนไม่สามารถจัดคืนได้ และการตัดโอนระหว่างเขต สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะดำเนินการให้ในปี 2558

ที่มา http://www.kruwandee.com/news-id29255.html

การทุจริต คอร์รัปชั่น มีผลกระทบต่อสังคม

เมื่อกล่าวถึง “การทุจริต” “การคอร์รัปชั่น” หรือ “การฉ้อราษฎร์บังหลวง”  มักเข้าใจกันง่าย ๆ ว่าหมายถึง “การโกง” นั่นเอง  หรือ การไม่ซื่อสัตย์ สุจริต ของบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่ร่วมมือกันทำความชั่วโดยเจตนา มีการไตร่ตรอง วางแผนอย่างมีขั้นตอน หรือมีกระบวนการอย่างแยบยล
                คำว่า “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” มีในสังคมไทยมาแต่โบราณ หมายถึง “การโกงประชาชนโดยไม่ให้ทางการเห็น” ตั้งใจบิดเบือนข้อมูล ให้ผิดจากความเป็นจริง เพื่อให้ตนและพวกพ้องได้ประโยชน์
                ดังนั้น “การโกง” จึงเปรียบเหมือน “มะเร็งร้าย” หรือ “มหันตภัยเงียบ” ที่คุกคามแอบแฝงอยู่ในสังคมมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน นับวันแต่จะมีกลเม็ดที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น มีผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นกระบวนการ จำนวนหลายฝ่าย หลายคนมากกว่าแต่ก่อน
                 “การโกง” เกิดขึ้นได้อย่างไร ส่วนใหญ่เกิดจาก”ความโลภ” ของคนที่อยู่ใกล้ชิดหรือรู้เห็นลู่ทางที่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าตนและพวกพ้อง ถ้าเป็นการ “โกงเงิน” ก็จะเริ่มจากผู้ถือเงิน อาจเป็น “ฝ่ายเหรัญญิก” หรือ คนทำงานการเงิน ของแต่ละหน่วยงาน เห็นเงินแล้วเกิดกิเลสตัณหา อยากได้  ถ้าหากเป็นเงินก้อนใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ก็กระจายความเสี่ยงโดยแบ่งประโยชน์กัน ยิ่งประธาน / หัวหน้างานหรือระดับบริหาร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ รู้เห็นเป็นใจ “การโกง” ก็ยิ่งทำได้แนบเนียน สารพัดวิธีการ หลากหลายขั้นตอน ในการหลอกลวงเพื่อตบตาประชาชน หรือคนอื่นซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เสียผลประโยชน์ ทำอย่างไรได้เมื่อเหลือบไรในสังคมสุมหัวกันสูบเลือดเพื่อนพ้องน้องพี่ ก็มีแต่จะผอมซีดและเหี่ยวแห้งตายไปในที่สุด “มหันตภัยเงียบ” นี้แฝงอยู่ในทุกสังคม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ และองค์การระดับโลก
                “การทุจริตคดโกง มีผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติอย่างไร”  ในเมื่อ”การโกง” เป็น “มะเร็งร้าย” หรือ”มหันตภัยเงียบ” ที่คุกคามทุกสังคม มันจึงไม่ต่างอะไรจาก “สนิม”(การโกง)ที่กัดกร่อน”เหล็ก”(สังคม) หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยนานเข้า โครงหลังคาบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ที่เป็นเหล็กก็จะผุกร่อนและสลายไปในที่สุด ดังสำนวนที่ว่า “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” กัดกร่อนตัวเองจนไม่เหลืออะไร แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร จะนิ่งเงียบเป็น”คุณเฉย”ทำตาปริบ ๆ โดยไม่ช่วยกันหาทางป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์ “มะเร็งร้าย”ที่กำลังคุกคามสังคมก่อนที่ทุกอย่างจะสายไปกว่านี้อย่างนั้นหรือ
                ในระดับประเทศ รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมักมีเรื่องราวฉาวโฉ่ “การทุจริต คอร์รัปชั่น” เพราะมีคนหลายกลุ่มมาเกี่ยวข้องและหลายขั้นตอนการดำเนินงานทุกโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลซึ่งเป็นเงินภาษีจากประชาชนเจ้าของประเทศตัวจริง ทุกโครงการจึงยากแก่การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เราจึงได้ยินข่าวการทุจริตการสร้างโรงพักตำรวจทั่วประเทศ 396 แห่ง และโครงการไทยเข้มแข็งอย่างมโหฬารของรัฐบาลชุดก่อน และข่าวเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจำนวนหลายแสนล้านของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โครงการบริหารจัดการน้ำจำนวน 3.5แสนล้านที่กำลังดำเนินอยู่ก็ไม่ค่อยโปร่งใสนัก รวมทั้งโครงการพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมของประเทศที่มีเม็ดเงินมหาศาลถึง 2.2  ล้านล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างน้อย ๆ ก็ค่าเปอร์เซ็นต์หรือที่เขาเรียกว่าค่า “คอมมิชชั่น” จากเมื่อก่อนร้อยละ 10 ปัจจุบันกล่าวกันว่ากระเถิบสูงถึงร้อยละ 30-40 แสดงว่าการพัฒนาแต่ละโครงการตกถึงประชาชนหรือประชาชนได้รับประโยชน์จริงเพียงร้อยละ 60-70 ของเงินงบประมาณที่หว่านลงมาในแต่ละโครงการ นี่ยังไม่นับค่าใต้โต๊ะเพื่อให้ได้งานที่เขาเรียกกันว่า ค่าฮั้ว และอาจมีเม็ดเงินส่วนอื่นอีกที่ทำให้ผลประโยชน์ของส่วนรวมเสียไป
                “จะป้องกันแก้ไข ปัญหาการทุจริตคดโกงได้อย่างไร” นอกจากช่วยกันเป็นหูเป็นตากระจายข่าวการโกงให้สังคมรับรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ผ่านสื่อทุกประเภททั้ง หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์โดยเฉพาะสื่อ”สังคมออนไลน์” มีส่วนในการเปิดโปงกระบวนการทำงานของคนชั่วเหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพสูงยิ่งในปัจจุบัน หากกลุ่มคนรักและห่วงใยสังคมรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ทำงานอย่างจริงจังก็จะช่วยได้ไม่น้อย
                “งานศิลปวัฒนธรรม จะมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การทุจริตคดโกงได้อย่างไร” ในฐานะท่านเป็นศิลปินน้อยใหญ่ทั้งหลาย ท่านสามารถ “ติดอาวุธทางปัญญา”ให้สังคมเสพงานศิลปวัฒนธรรมสาขาที่ท่านถนัดหรือสนใจ โดยการขยันสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกสู่สาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้าน “วรรณกรรม”  งานศิลปวัฒนธรรมด้าน “ภาพวาด” หรือ ทัศนศิลป์ ตลอดจนสื่อพื้นบ้านอย่างศิลปการแสดง”ดนตรีและหมอลำ” ที่มีเนื้อหาสาระสะท้อนถึงภัยของความไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือชี้ให้เห็นความเลวร้ายของ “การทุจริต โกงกิน” เป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีงามแผ่เป็นวงกว้างออกไปจนมีปริมาณมากพอ สู่เยาวชน นักเรียนและประชาชน ที่มาเข้าร่วมโครงการ “ ศิลปินสัญจรสอนศิลป์ถิ่นทุรกันดาร”ในครั้งนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนต้นกล้าพันธุ์ดีที่จะเติบโตเป็นข้าวปลูกในวันข้างหน้า ที่พร้อมจะหว่านลงไปในดินที่มีความชื้นและอุณหภูมิพอเหมาะ ก็จะงอกงามเจริญเติบโตเป็นต้นกล้าและข้าวปลูกพันธุ์ดีของแผ่นดิน ของสังคมประเทศชาติ กลายเป็นเครือข่าย เป็นกำแพงล้อมรอบปกป้องสังคม ให้อยู่รอดปลอดภัย และมีความสุขกันถ้วนหน้าจากเงินภาษีที่เป็นน้ำพักน้ำแรงของเราอย่างภาคภูมิ...

ที่มา http://www.oknation.net/blog/Anutip/2013/11/16/entry-1

ต้นตอของปัญหา? แนวทางแก้ไข?

1. ต้นตอปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ

    คำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่หลายคนตอบว่า "เกิดจากความไม่พอเพียง" ของคนที่ทำทุจริต "เกิดจากอุบัติเหตุและความจำเป็น" และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่หากว่าด้วยหลักศาสนาแล้วผมเห็นว่า "เกิดจากความมีกิเลส" ซึ่งหากสรุปเป็นประเด็นตามความเห็นของผมก็จะพิจารณาได้ว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากมาก ๆ พระศาสดาของหลายศาสนาในโลกล้วนแต่มุ่งมั่นให้ศาสนิกลดละกิเลส และความอยากได้ใคร่มี รวมถึงให้ความส่งเสริมและเกื้อหนุน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสังคม ซึ่งทุกพระศาสดาสามารถทำได้สำเร็จเป็นอย่างสูง แต่ยังไม่สามารถทำให้มนุษย์ทุกผู้ทุกนามลดละกิเลสได้ทั้งหมด จึงยังคงทำให้ปัญหานี้ยังคงมีอยู่ และยังคงจะมีอยู่ตลอดไปตราบกระทั่งทุกชีวิตแจ่มชัดและยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนาตน

     ประเด็นนี้คงจะต้องให้ช่วยกันถกเพื่อลองดูความเห็นว่าเห็นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

2. อะไรคือแนวทางแก้ไขการทุจริตและประพฤติมิชอบ

    สืบเนื่องจากคำถามแรก กรณีที่เรามองปัญหาการทุจริตเกิดจาก "กิเลส" คงจะต้องแก้ไขที่ต้นตอได้ยาก แต่จะทำให้ลดโอกาสการเกิด (Preventive) และลดผลกระทบของการเกิด (Protective & Mitigation) น่าจะเป็นไปได้ โดยคำคำหนึ่งที่ผมมักจะใช้ก็คือ "มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นคนดี และจำเป็นจะต้องมีระบบคอยกำกับและควบคุม เพื่อป้องกันมิให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี" และหากมองจากมุมดังกล่าวเมื่อเทียบกลับมาหากรูปแบบการดำเนินการของประเทศไทย จะพบว่าปัจจุบันมีกลไกและหน่วยงานอิสระอย่างน้อย 4 หน่วยงานที่คอยควบคุมกำกับดูแลในเรื่องนี้ กล่าวคือ (หากผมสำคัญผิดประการใด โปรดช่วยแก้ไขให้ด้วยครับ จักขอบคุณยิ่ง)
   1. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งมีหน้าที่ทั้งในแนว "ป้องกัน (Preventive)" และในแนว "ปราบปราม (Protective)"
   2. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีหน้าที่ในเชิง "ปราบปราม (Mitigation)"
   3. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีหน้าที่ในเชิง "ปราบปราม (Protective)"
   4. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ในเชิง "ป้องกัน (Preventive)"
   เมื่อมองกลับมาหาคำว่า "ป้องกันมิให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี" เราจะพบว่าหากกลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วแล้ว จะทำให้ผู้ที่คิดจะทำการทุจริตและประพฤติมิชอบมีความเกรงกลัวได้ไม่มากก็น้อย และน่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขเพื่อทำให้โอกาสในการทุจริตและประพฤติมิชอบลดน้อยถอยลงไปได้


ที่มา http://pantip.com/topic/31084769

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต

โครงการศึกษานโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ

วัตถุประสงค์โครงการ

1. เพื่อศึกษาปัจจัย เงื่อนไข  ที่ทำให้เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ
2. เพื่อวิเคราะห์บูรณาการนโยบาย แนวทาง ตลอดจนเครื่องมือระบบและกลไกในการตรวจสอบการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ

วัตถุประสงค์ในการสัมมนา
เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐ

กรอบแนวคิดในการศึกษา
แนวทางการบูรณาการให้เกิดประสิทธิผล
1. สาเหตุปัญหาการทุจริต
2. การป้องกันแก้ไขในปัจจุบัน
3. มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
4. นโยบาย มาตรการต่างประเทศ
- นโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ

แนวทางการวิเคราะห์คอร์รัปชั่นแบบองค์รวม
แนวทางวิเคราะห์ทางด้านกฎหมาย
1. แนวทางการวิเคราะห์เชิงระบบ(แก้ไขระเบียบสัญญา กฎหมายเพื่อตนเอง)
2. แนวทางวิเคราะห์คอร์รัปชั่นตามระบบ(ใช้บทบาทสาธารณะหรือทรัพยากรสาธารณะเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว)
3. ทฤษฎีการขัดกันแห่งผลประโยชน์(ความสัมพันธ์ การตัดสินใจและผลประโยชน์ของส่วนรวม)
4. ทฤษฎีตัวการ-ตัวแทน (ผลประโยชน์ของสาธารณะ)
5. แนวทางวิเคราะห์แบบโครงสร้าง(การแทรกแซงของรัฐต่อระบบเศรษฐกิจ)
6. แนวทางวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมือง (อำนาจ ประวัติศาสตร์  และวัฒนธรรม).
7. แนวทางวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์สถาบันแบบใหม่(ต้นทุนทางธุรกรรม)
8. แนวทางวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ (ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ)
9. แนวทางวิเคราะห์แบบหน้าที่นิยม(กระบวนการใช้อำนาจและอิทธิพลทางการเมือง)
10.แนวทางวิเคราะห์ด้านคุณธรรม (คุณธรรมของผู้ปกครองที่ต้องทำเพื่อส่วนรวม)

สมการคอร์รัปชัน
C  =  G + O - E - R 
G  =  ความโลภ (Greed)
O  = โอกาส (Opportunities)
E  =  จริยธรรม (Ethics)
R  = ความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษ (Risk)

สาเหตุที่ก่อให้เกิดการทุจริต
จัดแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามสมการคอร์รัปชัน คือ

1. เกิดจากความโลภ (Greed) 
1.1 เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ขาดหลักยึดด้านคุณธรรมจนกลายเป็นคนที่เห็นแก่ได้  มีความอยากและความไม่รู้จักเพียงพอ
1.2 การขาดปทัสฐาน (Norm) ของความเป็นบุคคลสาธารณะ ( Publice persons) ที่ต้องยึดหลักความเป็นกลาง  และความเป็นธรรมเป็นที่ตั้งซึ่งเป็นอุดมการณ์ของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐสมัยใหม่
2. เกิดจากมีโอกาส (Opportunities) และระบบการทำงานมีช่องว่าง
2.1  การขาดความรู้ ความเข้าใจผิด หรือถูกใช้
2.2 ความเคยชิรของเจ้าหน้าที่ที่คุ้นเคยกับการที่จะได้ ค่าน้ำร้อนน้ำชา
2.3 การถูกบังคับให้รับตามบรรทัดฐานของกลุ่ม
2.4 อาศัยช่องว่างของระเบียบและตามกฎหมาย
2.5 ไม่ปฎิบัติตามกฎและระเบียบ
2.6 การทุจริตตามระบบ (Systemic) ด้านงบประมาณ  การเงินการคลังและการจัดซื้อจัดจ้าง
2.7 เกิดจากการใช้อำนาจ บารมี อิทธิพล หรือตำแหน่งหน้าที่ราชการที่มีอำนาจในการวินิจฉัย
2.8 โครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ และการเมืองที่อ่อนแอ
2.9 โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีการผูกขาดกลุ่มทุนขนาดใหญ่
2.10โครงสร้างทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นแบบอุปถัมภ์ค่านิยมที่ยกย่องคนมีฐานะร่ำรวย
2.11 โครงสร้างทางการเมืองที่ต้องอาศัยเงินเป็นใหญ่  การจ่ายเงินเพื่อซื้อเสียงทำงานทางการเมือง
2.12 กระแสทุนทางการเมือง  อาทิ  โครงการเมกะโปรเจกต์ถือเป็นการคอร์รัปชันเชิงบูรณาการ  ที่ต้องใช้ทุนในการบริหารจัดการ จัดจ้างที่ปรึกษา วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีคนรอบรู้ในเรื่องเหล่านี้อยู่เพียงวงจำกัดทำให้การทุจริตประพฤติมิชอบเป็นไปได้ง่าย
2.13 ความไม่เข้มแข็งขององค์กรตรวจสอบ ปราบปรามของรัฐ
2.14 เกิดจากการเปิดเสรีภาพการค้าและการลงทุน ที่มีแข่งขันแย่งการจ่ายส่วยหรือสินบน  เพื่อให้ได้รับอนุมัติให้นำเข้า หรือได้มาซึ่งในอนุญาตต่อการได้รับสิทธิต่อโครงการต่าง ๆ
2.15 กฎหมายขาดความสมบูรณ์ในการดำเนินงาน
2.16 การบังคับใช้กฎหมายไทยยังไม่เคร่งครัด  และมีช่องโหว่ให้ผู้ใช้กฎหมายดำเนินการแบบสองมาตรฐาน  และการขาดความเชื่อมั่นต่อการเข้าร้องเรียนและฟ้องร้อง
3. เกิดจากการขาดจริยธรรม (Ethics)
3.1 การขาดคุณธรรม จริยธรรม
3.2 การขาดเจตนาจำนงที่แน่วแน่ของฝ่ายการเมืองในการแก้ไขปัญหา และภาคการเมืองขาดความมั่นคงและต่อเนื่อง
4. เกิดจากการประเมินความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษ (Risk)
4.1 การขาดระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง ขาดความหลากหลายในการตรวจสอบจากภาคส่วนต่าง ๆ  โดยเฉพาะภาคประชาชนรวมถึงการทำลายระบบตรวจสอบอำนาจรัฐ
4.2 ขาดการประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ
4.3 ประชาชนส่วนใหญ่มักจะเบื่อหน่าย  วางเฉย  ไม่มีปฏิกิริยาต่อพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง  ทำให้ผู้ทุจริตมีแรงจูงใจและรู้เห็นว่า ผลตอบแทนที่จะได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงนั้น  คุ้มค่า จึงแสวงหาและพัฒนาแนวทางการทุจริตที่มีรูปแบบแปลกใหม่
4.4 ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานด้านกฎหมาย และขั้นตอนการอำนวยความยุติธรรม  รวมถึงความล่าช้าในการให้บริการและขาดความโปร่งใสของกระบวนการ  ทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายและขาดความศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรร
4.5 ประชาชนขาดแรงจูงใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน
4.6 องค์กรภาคประชาชนขาดความเข้มแข็ง

แนวโน้มการทุจริตในอนาคต

1. การทุจริตในโครงการที่เป็นงบประมาณของรัฐยังเป็นศูนย์กลางของปัญหาการทุจริตทั้งปวง  เนื่องจากขนาดของงบประมาณโตขึ้นเรื่อยๆ เสริมด้วยการทุจริตข้ามชาติ
2. การทุจริตด้วยการออกนโยบายกฎหมายและแก้ไขระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพรรคพวก(Systematic corruption)
3. การทุจริตโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายระหว่างประเทศในการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างไม่ถูกต้อง  หรือการลักลอบขนเงินที่ได้จากการกระทำทุจริตออกนอกประเทศ
4. การทุจริตในระบบการจัดเก็บภาษีที่เอื้อต่อการเกิดช่องว่างการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยและคนจน เช่น ภาษีรายได้
5. การทุจริตที่ต่างประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว  แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการ  เช่น ภาษีมรดก ภาษีก้าวหน้าสำหรับราคาบ้านพักอาศัย
6. การทุจริตที่อาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  และข้อมูลข่าวสาร  เป็นการทุจริตทั้งภายในชาติและข้ามชาติ  โดยผู้ที่กระทำการทุจริตสามารถป้อนข้อมูลเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง  หรือมีการทำลายระบบข้อมูลเพื่อมิให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่
7. การทุจริตจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ที่กำลังเกิดจากการแข่งขันแย่งจ่ายส่วยหรือสินบน เพื่อให้ได้รับอนุมัติให้นำเข้า  หรือได้มาซึ่งใบอนุญาตต่อการได้รับสิทธิต่อโครงการต่าง ๆ
8. การทุจริตในโครงการขนาดใหญ่  เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

รูปแบบของการทุจริตภาครัฐในสังคมไทย
แบ่งกรณีของการทุจริตออกเป็นอย่างน้อย 14 ประเภท
1. การทุจริตเชิงนโยบาย
2. การทุจริตในการบริหารราชการแผ่นดิน
3. การทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
4. การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง
5. การทุจริตในการให้สัมปทาน
6. การทุจริตที่เกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
7. การมีผลประโยชน์ทับซ้อน
8. การปกปิดการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง  การปิดบังข้อมูลและให้การเท็จ
9. การใช้นโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ และข้อบังคับต่าง ๆ อย่างมีอคติและลำเอียง
10.การใช้ทรัพยากรของรัฐไปในทางมิชอบ  การปลอมแปลงเอกสาร  และการฉ้อฉล
11.ไม่กระทำการตามหน้าที่  แต่ใช้ลัทธิพรรคพวกแทน  เช่น การจัดฮั้วประมูล
12.การให้การและการรับสินบน  การขู่เข็ญบังคับและการให้สิ่งล่อใจ
13.การยอมรับของขวัญที่ไม่ถูกต้อง  เช่น เช็คของขวัญมูลค่าสูง
14.การทุจริตโดยการทำลายระบบตรวจสอบอำนาจรัฐ

ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริต
ความเสียหายที่เกิดทั้งความเสียหายด้านงบประมาณ ด้านรายได้  และด้านทรัพย์สิน สรุปได้ดังนี้
1. เกิดจากความไม่ยุติธรรม
2. การทุจริตเป็นตัวขัดขวางการสร้างตลาดเสรี บิดเบือนกลไกการทำงานของตลาดประชาชนต้องบริโภคสินค้าในราคาที่แพงขึ้น
3. ความไม่มีประสิทธิภาพทำให้รัฐต้องจ่ายเงินงบประมาณเกินกว่าที่ควรจ่ายโดยไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่า เนื่องจากได้ของคุณภาพต่ำหรือใช้ประโยชน์ได้น้อยหรือไม่ได้ใช้เลยหรือใช้ได้ในระยะสั้น
4. เกิดการสูญเปล่าในทรัพยากรของรัฐ  ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการที่ลงทุนทำไป  ซึ่งจ่ายเงินแล้วไม่ได้รับผลตามวัตถุประสงค์ได้ผลไม่คุ้มค่า  ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
5. การทุจริตเป็นเหตุของการใช้ทรัพยากรของรัฐไปเพื่อภาคที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตเพื่อใช้ในการควบคุมทางสังคม
6 รัฐสูญเสียรายได้ จากการจัดเก็บรายได้ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน  เกิดจากการรั่วไหล
7. ความเสื่อมเสียต่อหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
8. ความเสียหายต่อวัฒนธรรม และปทัสฐานของสังคม
9. เป็นเหตุแห่งความยากจน  ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคม และการกระจายรายได้ที่เลวลง
10.นักธุรกิจขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนเนื่องจากปัญหาเงินใต้โต๊ะ  และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
11.การนำนโยบายของรัฐบาลไปใช้เกิดข้อจำกัด  เพราะมีการทุจริตเกิดขึ้น
12. ประชาชนขาดความไว้วางใจในรัฐบาล
13. การเมืองขาดเสถียรภาพ
14.มาตรการควบคุมคอร์รัปชันใช้ไม่ได้ผล

แนวทางในการดำเนินงาน
1. ยุทธศาสตร์ชาติ
2. นโยบาย
3. ยุทธศาสต์ ป.ป.ท.
4. กลยุทธ์
5. มาตรการ
6. แผนงาน/โครงการ

ร่างประเด็นนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ
1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับสำนักงาน ป.ป.ท.
2. สร้างความแข็งแรงให้กับระบบตรวจสอบระดับประเทศ
3. สร้างความเข้าใจการทุจริตคอร์รัปชันและติดตามความเคลื่อนไหว
4. เสริมสร้างจริยธรรมระดับบุคคลและระดับองค์กร
5. ส่งเสริมปัจจัยสนับสนุนการป้องกันและปราบปราม
6. เสริมสร้างความโปร่งใสขององค์กรภาครัฐและปัจเจกบุคคล
7. ส่งเสริมการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
8. ส่งเสริมภาคประชาสังคมในการป้องกันและปราบปราม
9. เสริมสร้างปทัสถานที่ดีให้กับบุคคล
10.สร้างกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการป้องกันและปราบปราม

1. สร้างความเข้มแข็งให้กับสำนักงาน ป.ป.ท.

1. การคัดสรรบุคลากรที่มีคุณวุฒิสูง มีทักษะ  การศึกษา  ประสบการณ์  และการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม  และมีความสามารถที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง
2. บุคลากรมีความสามารถและมีความรับผิดชอบที่จะทำงานร่วมกับภาคประชาชน  สื่อ  นักวิชาการ  และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ของสังคม
3. มีงบประมาณอย่างเหมาะสม  และเป็นอิสระจากอิทธิพลนอกกฎหมาย
4. มีทรัพยากร เครื่องไม้ เครื่องมือ  ที่เหมาะสมเทียบเคียงกับประเทศที่ประสบผลสำเร็จ  หรือสามารถขอความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้
5. ระบบการบริการงานที่มีโครงการไม่ซับซ้อน
6. นำเอากฎหมายที่ต่อต้านการคอร์รัปชันมาใช้อย่างกว้างขวาง  และบังคับใช้โดยยึดถือหลักนิติธรรมโดยมีการปฏิบัติงานที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ
7. ต้องยึดถือหลักการเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใส  และอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณธรรม  ความเป็นวิชาชีพ
8. สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น  รวมทั้งต้องมีกลไกและเครื่องมือที่จะปกป้องบุคคลที่ให้ความร่วมมือในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน
9. มีช่องทางให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา  และสามารถสื่อสารกันได้อย่างเป็นอิสระ
10.สามารถดำเนินการให้เกิดความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ  ที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน  และผู้ส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับชาติ  ระดับข้ามชาติ และระดับนานาชาติ
11. มีระบบที่ปรึกษา  การติดตาม และประเมินผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง

2. สร้างความแข็งแรงให้กับระบบตรวจสอบระดับประเภท

1. การจัดตั้งระบบพิทักษ์คุณธรรมในระดับชาติ (National Integrity  system)
2. สร้างวาระแห่งชาติในการต่อต้านคอร์รัปชัน
3. สร้างเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันระดับชาติ
4. สร้างกลยุทธ์ที่เน้นทั้งภาครัฐและเอกชน  เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน
5. สร้างมาตรการป้องกัน และปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อลดคดีปราบปราม
6. เฝ้าระวัง  ป้องปราม กรณีที่มีแนวโน้มการทุจริต
7. การใช้มาตรการเชือดไก่ให้ลิงดูโดยสามารถเอาผิดกับกรณีที่ส่งผลกระทบสูงได้สำเร็จ

3. สร้างความเข้าใจความทุจริตและติดตามความเคลื่อนไหว
1. มีการสำรวจสภาพการทุจริตอย่างต่อเนื่อง
2. การจัดทำการสำรวจการรับรู้ของสาธารณะ
3. การพัฒนาองค์ความรู้ด้านคอร์รัปชัน
4. การจัดสัมมนา อภิปรายเกี่ยวกับการคอร์รัปชันเป็นประจำ

4. เสริมสร้างจริยธรรมระดับบุคลากรและระดับองค์กร
1. หน่วยงานของรัฐต้องมีประมวลจริยธรรมที่สามารถปฏิบัติและวัดผลได้
2. การมีประมวลจริยธรรมและข้อบังคับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในคู่มือข้าราชการ
3. การฝึกอบรมข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปลูกฝังค่านิยมให้มีคุณธรรมสูง

5. ส่งเสริมปัจจัยสนับสนุนการป้องกันและปราบปราม
1. การบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด
2. ทบทวนระเบียบวิธีการปฎิบัติของกฎหมายและเปลี่ยนแปลงแก้ไข  เพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถยับยั้งคอร์รัปชันได้จริง
- กฎหมายป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
- กฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสได้จริง
- กฎหมายว่าด้วยระบบการตัดสินใจของภาครัฐที่โปร่งใส ลดดุลยพินิจ
- กฎหมายครอบคลุมเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภททุกระดับ  เอาผิดทั้งผู้ให้สินบน  ผู้สัญญาหรือผู้เสนอว่าจะให้สินบน
- กฎหมายการเอาผิดกับทั้งผู้รับรู้การทุจริตที่ไม่แจ้งความ และผู้รับสินบนแทนผู้อื่น
3. การปฏิรูประบบราชการ  ลดขั้นตอนการทำงาน  ปรับปรุงกฎหมายภาษี
4. ด้านเศรษฐกิจ ทบทวนเรื่องค่าตอบแทนของข้าราชการและนักการเมืองให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่รับผิดชอบ  สถานภาพ  และทัดเทียมภาคเอกชน

6. เสริมสร้างความโปร่งใสขององค์กรภาครัฐและปัจเจกบุคคล
1. เปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของข้าราชการตามระดับที่เหมาะสม
2. การปรับเปลี่ยนระบบการจัดซื้อจัดจ้างและการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน
3. กำหนดให้รายได้ของทุกคนในประเทศถือเป็นข้อมูลสาธารณะ
4. มาตรการการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐอย่างโปร่งใสและเปิดเผย
5. การทำสัญญากับรัฐที่แสดงความซื่อสัตย์

7. ส่งเสริมการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
1. การสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างครอบคลุม
2. การร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน
3. การสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ
4. การสร้างเครือข่ายกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
5. แสวงหาความร่วมมืออย่างกว้างขวางในการต่อต้านการคอร์รัปชัน  โดยลดการเผชิญหน้าและการโต้แย้งทางการเมือง

8. การส่งเสริมภาคประชาสังคมในการป้องกันและปราบปราม
1. การส่งเสริมบทบาทและเพิ่มอำนาจให้แก่ภาคประชาชนในการต่อสู้กับคอร์รัปชัร และที่สำคัญกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกว่าคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างไร
2. การปกป้องผู้ให้ข้อมูลและให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส โดยอาจใช้เทคโนโลยีด้วย
3. ส่งเสริมให้ประชาชนมีการตรวจสอบบัญชีหรือการทำงานของหน่วยงานภาครัฐได้
4. กฎหมายข้อมูลข่าวสาร  มีหลักว่าประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐได้แท้จริง
5. การเน้นเสรีภาพของสื่ออย่างต่อเนื่อง  สื่อมีอิสระในการเปิดเผยข้อมูลของทางราชการ
6. การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินคดีของ ป.ป.ท. ทุกคดีให้สื่อมวลชน
7. สามารถเปิดเผยถึงกรณีการคอร์รัปชันที่สำคัญ  เพื่อเป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชน
8. ส่งเสริมมาตรการการลงโทษทางสังคม (Social sanction)

9. เสริมสร้างปทัสฐานที่ดีให้กับสังคม
1. ส่งเสริมวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานของภาครัญและภาคเอกชน
2. การให้คำแนะนำและการศึกษาแก่พลเมืองทุกกลุ่ม
3. ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน   ประชาชนตระหนักถึงความเลวร้ายของคอร์ปชัน และแสวงหาการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพลเมือง
4. การอบรมข้าราชการใหม่ทุกคนเรื่องการคอร์รัปชัน  ค่านิยมและจริยธรรมที่ถูกต้อง
5. การให้คำมั่นสัญญาที่ชัดเจนและพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ของผู้นำทางการเมืองที่จะขุดรากถอนโคนคอร์รัปชันไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม
6. กิจกรรมที่ต่อต้านการคอร์รัปชันจะต้องถูกนำมาแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด  และจะต้องมีการทบทวนระเบียบวิธีการปฏิบัติของทางราชการให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา
7. ส่งเสริมให้สังคมเห็นชอบต้องปกป้อง  ไม่ยอมรับคนโกง  มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจแต่ฝ่ายเดียว

10.สร้างกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการป้องกันและปราบปราม
1. การกำหนดยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับนโยบาย และบริบททางสังคม
2. จัดลำดับความสำคัญของมาตรการ แผนงานและโครงการ
3. การกำหนดเป้าหมายและการวัดผล


ที่มา http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=8707

ทุจริตการสอบ

การสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการในหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานในปัจจุบันมีผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นจำนวนมากแต่มีผู้ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นจำนวนน้อย เนื่องจากอัตราว่างของตำแหน่งมีจำนวนจำกัดในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษามีจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันสูงและนำไปสู่ปัญหาการทุจริตในการสอบที่เกิดขึ้นตามมาดังที่ปรากฏเป็นข่าว ประกอบกับปัจจุบันระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารมีความทันสมัยมากขึ้น เป็นช่องทางให้ผู้เข้าสอบสามารถกระทำการทุจริตได้สะดวกกว่าแต่ก่อน ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสอบจึงต้องเตรียมการระมัดระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในการสอบ
       
       ศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในการสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้พิพากษา ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการสอบข้อเขียนสำหรับการสอบคัดเลือก การทดสอบความรู้ และการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการทุจริตการสอบ
       
       โดยระเบียบดังกล่าวได้วางแนวทางในการปฏิบัติครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบ ระเบียบการสอบข้อเขียน และการดำเนินการของกรรมการคุมสอบเพื่อให้การจัดสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นไปโดยเสมอภาค สุจริต โปร่งใสและเป็นธรรม
       
       ในการสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาแต่ละครั้งกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาคณะหนึ่งประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการออกข้อสอบ กรรมการคุมสอบและเจ้าหน้าที่คุมสอบ เพื่อให้การดำเนินการจัดสอบเป็นไปอย่างเรียบร้อยและสุจริต คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเป็นเรื่อง “ลับ” จะไม่เปิดเผยแก่บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และในระหว่างประชุมออกข้อสอบ ให้คณะกรรมการสอบขอความอนุเคราะห์ไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการในการตัดสัญญาณการสื่อสารทั้งในห้องออกข้อสอบและในบริเวณพื้นที่โดยรอบห้องออกข้อสอบ เมื่อการประชุมออกข้อสอบเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อสอบรั่วไหล ข้อสอบพร้อมร่างธงคำตอบให้เป็นเอกสารลับและไม่อนุญาตให้นำออกจากห้องออกข้อสอบ โดยข้อสอบที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมจะถูกทำลายทิ้งทั้งหมด
       
       นอกจากนั้น ระเบียบดังกล่าวยังมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามให้ผู้เข้าสอบต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่หลายข้อ ผู้เข้าสอบควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการสอบก่อนถึงวันสอบเพื่อความสะดวกและประโยชน์ของผู้เข้าสอบเอง เช่น ให้ผู้เข้าสอบมาถึงห้องสอบก่อนเริ่มต้นเวลาสอบไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที และห้ามมิให้ผู้เข้าสอบเข้าห้องสอบภายหลังการสอบได้เริ่มต้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้าไปในอาคารสอบและห้องสอบโดยเด็ดขาด ห้ามกระทำการใด ๆ อันอาจช่วยให้ล่วงรู้คำถามและคำตอบของข้อสอบ เช่น นำตำรากฎหมาย ตัวบทกฎหมาย โน้ตย่อใด ๆ เข้าไปในห้องสอบ ห้ามมิให้นำสัมภาระใด ๆ ที่อาจใช้ซุกซ่อนสิ่งของดังกล่าวข้างต้น ห้ามไม่ให้ออกจากห้องสอบก่อนหมดเวลาสอบและห้ามนำข้อสอบออกจากห้องสอบโดยเด็ดขาด มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อสอบรั่วไหลซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการทุจริตในการสอบ
       
       อีกทั้งระบบเทคโนโลยีและการสื่อสารสมัยใหม่ในปัจจุบัน ทำให้การติดต่อสื่อสารหรือการส่งข้อมูลถึงกันทำได้สะดวกรวดเร็วและมีหลายรูปแบบ! จึงจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบให้มีความรัดกุมมากขึ้น ดังนั้น ในวันสอบคณะกรรมการจึงขอความอนุเคราะห์ไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตัดสัญญาณการสื่อสารบริเวณห้องสอบ มีการใช้เครื่องตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Hand Scan) เพื่อให้กรรมการคุมสอบใช้ในการตรวจสอบร่างกายผู้เข้าสอบ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจตราและดูแลความเรียบร้อยบริเวณรอบอาคารสอบ
       
       ผู้เข้าสอบที่ทุจริตในการสอบจะถูกปรับเป็นผู้สอบข้อเขียนตก และเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ ตามมาตรา ๒๖ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
       
       ไม่เพียงแต่ผู้เข้าสอบเท่านั้นที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ แต่ในส่วนของคณะกรรมการคุมสอบก็มีระเบียบ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยระเบียบดังกล่าว ห้ามไม่ให้กรรมการคุมสอบนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือสื่อสารใด ๆ เข้าไปในห้องสอบ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการ และให้กรรมการคุมสอบตรวจสอบผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะทำการสอบโดยทุจริต
       
       อย่างไรก็ตาม แม้กฎ ระเบียบและมาตรการป้องกันการทุจริตต่างๆจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การสอบคัดเลือกเป็นไปอย่างสุจริตและยุติธรรมกับทุกฝ่าย แต่มาตรการป้องกันการทุจริตที่สำคัญอีกมาตรการหนึ่งคือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้สมัครสอบโดยไม่ทุจริตในการสอบ ผู้สมัครสอบควรตระหนักถึงผลกระทบในอนาคตที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ เพราะนอกจากจะถูกปรับให้เป็นผู้สอบตกไม่สามารถเข้ารับราชการได้อย่างที่คาดหวังไว้แล้วยังอาจส่งผลให้ผู้ทุจริตตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงแก่อนาคตของตนเองตลอดทั้งชื่อเสียงและเกียรติยศของวงศ์ตระกูลอีกด้วย

ที่มา 

โทษการทุจริตการสอบ

® โทษการทุจริตในการสอบ หรือส่อเจตนาทุจริตในการสอบจะได้รับโทษ ดังนี้

 ติด F ในรายวิชาที่สอบ

 ทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองเพื่อรับทราบ

 บันทึกลงในสมุดประวัตินักศึกษาทุจริตหรือ

 พิจารณาโทษทางวินัยขั้นร้ายแรง เช่น ให้พักการเรียน หรือให้ออก

ไม่โกงข้อสอบ7 ไม่โกงข้อสอบ9.5
ไม่โกงข้อสอบ2

จิตสำนึกดีมักจะเกิดในช่วงเช้า

  มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า สังคมจะสงบสุขและน่าอยู่มากขึ้นหากทุกคนในสังคมมีจิตสำนึกที่ดี และมีความซื่อสัตย์ เราก็เลยได้เห็นโครงการดี ๆ อย่างโตไปไม่โกงออกมารณรงค์ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกดีให้ลูกหลานเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้นำผลวิจัยเรื่องความซื่อสัตย์และจิตสำนึกที่ดีของคนจากเว็บไซต์ newser มาบอกต่อให้ได้รู้กันด้วยค่ะ และผลวิจัยนี้เขาบอกเอาไว้ว่า คนเราจะมีจิตสำนึกที่ดี และความซื่อสัตย์ในระดับที่สูงสุด ก็ตอนช่วงเช้านี่ล่ะ

          โดยผลวิจัยชิ้นนี้เป็นของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และมหาวิทยาลัยยูทาห์ ซึ่งเขาได้ขอให้อาสาสมัครทำแบบทดสอบความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ผลปรากฏว่า อาสาสมัครบางส่วนทำแบบทดสอบไม่ได้เลย ไม่ว่าจะทำแบบทดสอบในช่วงเช้า หรือช่วงบ่ายก็ตาม แต่พอทีมวิจัยบอกข้อมูลเพิ่มเติมไปว่า ทุก ๆ ข้อที่ทำถูก จะได้ผลตอบแทนเป็นเงิน 5 เซนต์ ทุกคนกลับมีความกระตือรือร้นอยากจะขอดูคะแนน และต้องการจะทำแบบทดสอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ก็แน่นอนว่า คะแนนของแต่ละคนกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ทีมวิจัยก็สรุปออกมาว่า คะแนนที่เพิ่มขึ้น มาจากเทคนิคการโกงกว่า 20-50% เลยทีเดียว

            
โกงข้อสอบ

          จากผลการทดลองในครั้งนี้ ก็มีสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในช่วงเช้าเราจะมีระดับจิตสำนึกดี และความซื่อสัตย์ค่อนข้างสูง เนื่องมาจากพลังงานร่างกายยังเต็มเปี่ยม แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ร่างกายได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกพอสมควร ระดับพลังงานและความยับยั้งชั่งใจจะถดถอยลงไป นอกจากนี้การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็เป็นเหตุให้ระดับความซื่อสัตย์ และสำนึกดีในตัวเราน้อยลงด้วยนะคะ

          ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่า ระยะเวลาและความพร้อมของร่างกายก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับจิตสำนึกที่ดี และความซื่อสัตย์ของเราไม่น้อยเลยเหมือนกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร ความสามารถในการยับยั้งชั่งใจไม่คดโกง หรือซิกแซ็กหลบหลีก ก็ยังคงขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของจิตใจเราเป็นส่วนใหญ่อยู่ดีล่ะเนอะ